ชามีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน ใบชาแต่ละสายพันธุ์นำมาผลิตเป็นชาเขียว ชาดำ ชาอูหลง ซึ่งขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการผลิต หลังเก็บเกี่ยวจะนำใบชาไปตากแดด จึงเกิดกระบวนการหมักตัวขึ้น ทำให้ใบชามีสีน้ำตาล เมื่อชงน้ำจะมีรสเข้มข้นและมีกลิ่นหอมฉุน โดยชาดำจะหมักนานกว่าชาอูหลง
ส่วนชาเขียว ที่เรานิยมกันมากนั้น เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วจะนำยอดใบชาไปอบไอน้ำทันที เพื่อทำให้ใบชาแห้งโดยใช้อุณหภูมิสูงอย่างรวดเร็วและใบชาที่ได้ ยังคงมีสีเขียว มีคุณภาพเช่นเดียวกับใบชาสด ทำให้ไม่สูญเสียสารที่เป็นองค์ประกอบสำคัญไปมากนัก
สถาบันสุขภาพอเมริกา พบว่า ชาทั้งหลายล้วนมีฤทธิ์ต้านมะเร็งได้ เพราะในชามีสารคาเทชิน(Catechins หรือ EGCG) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากกว่าวิตามินอี 20 เท่า และสามารถยับยั้งการสร้างสารไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่เกิดจากดินปะสิวในอาหาร ที่เกิดขึ้นเมื่อเจอกับสารอามีน ในอาหารทะเล เป็นตัวก่อมะเร็งได้หลายชนิด ซึ่งสารคาเทชินจะพบในชาเขียว มากที่สุด
ในชาเขียว ยังมีสารสำคัญคือ สารโพลีฟีนอล ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สารแทนนิน ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย แต่หากคนปกติดื่มชาแบบเข้มข้นมากเกินก็ทำให้ท้องผูก และสารกาเฟอีน ซึ่งในชาจะมีคาเฟอีน 30-40% ของกาแฟ
คนจีนใช้ชาเขียว เป็นยารักษาโรคมาไม่น้อยกว่า 4,000 ปีแล้ว ช่วยชะลอภาวะแก่ก่อนวัย ช่วยรักษาระดับความดันเลือดให้เป็นปกติ สกัดกั้นการทำงานของเอ็นไซม์ที่เปลี่ยนแปลงความเครียดในหลอดเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยก่อให้เกิดหลอดเลือดตีบ ลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ ช่วยลดระดับไขมันอิ่มตัว ซึ่งจะยับยั้งไม่ให้เกิดลิ่มเลือด และการก่อตัวของตะกอนไขมันที่ผนังเลือด
ชาเขียว ยังมีฤทธิ์ในการล้างพิษออกจากร่างกายได้ แต่ไม่มีสิ่งใดบนโลกที่มีแต่ประโยชน์แล้วไม่มีโทษ การดื่มชาก็มีโทษแอบแฝงอยู่เช่นกัน เพราะในใบชายังมี กรดแทนนิก(Tannic Acid) ประกอบอยู่ ซึ่งจะพบในชาแดงมากกว่าชาเขียว ยิ่งใบชาเกรดต่ำก็ยิ่งมีกรดแทนนิกสูง เพราะจะเกิดอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร
รองศาสตราจารย์ดร.วินัย ดะห์ลัน คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากเทียบปริมาณคุณค่าของสารที่อยู่ในชาเขียว ระหว่างชาเขียว แบบชงกับชาเขียว แบบพร้อมดื่มในปัจจุบัน พบว่าปริมาณสารที่ส่งผลต่อสุขภาพในชาเขียว พร้อมดื่มมีน้อยกว่า ทั้งมีปริมาณความเข้มข้นที่ต่ำกว่า เจือจางกว่าและยังเติมน้ำตาล
เมื่อเทียบพฤติกรรมการบริโภคพบว่าพฤติกรรมการบริโภคของชาวญี่ปุ่นที่นิยมดื่มชาเขียว ดื่มชาเขียว เสมือนน้ำและดื่มขณะที่ยังร้อน ทำให้ปริมาณสารที่ออกมาจากชาเขียว มีความเข้มข้นสูง และชาวญี่ปุ่นมีโอกาสเสี่ยงในการรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดมะเร็งต่ำ ซึ่งปัจจัยการบริโภคชาเขียว ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดมะเร็งได้
ขณะที่พฤติกรรมการบริโภคชาเขียว ในไทย มีลักษณะของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ สร้างค่านิยม กล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริงโดยหยิบยกเพียงประโยชน์แค่บางส่วนมาพูดถึงเท่านั้นแล้วตัดปัจจัยอย่างอื่นทิ้ง ให้คนดื่มเข้าใจผิด ทำให้เมืองไทยมองการดื่มชาเขียว เป็นแค่แฟชั่นเท่านั้น
นายสง่า ดามาพงศ์ นักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในเชิงโภชนาการ ชาพร้อมดื่มมีคุณค่าพอๆ กับน้ำเปล่า สารอาหารที่มีอยู่ในชาพร้อมดื่ม เมื่อเทียบกันแล้วไม่ต่างจากน้ำเปล่าเท่าไหร่ และยังมีการเติมน้ำตาลทำให้เพิ่มแคลอรีโดยไม่จำเป็น การดื่มชาเขียว จึงไม่ต่างกับการดื่มน้ำอัดลม ซึ่งให้พลังงานสูญเปล่า เพราะพลังงานที่ได้จากน้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว ไม่มีสารอาหารอย่างอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ร่างกายไม่จำเป็นต้องได้รับพลังงานจากน้ำตาล
นอกจากนั้นยังมีข้อห้ามในการดื่มชาที่สำคัญ ได้แก่
• ไม่ควรดื่มชาขณะกินยา เพราะสารต่างๆ ในน้ำชาอาจทำปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ต่อยาที่กินเข้าไป อาจทำให้คุณสมบัติของยาเจือจางหรือเสื่อมสภาพลง หรือขั้นร้ายแรงอาจกลายเป็นสารพิษได้ ถ้าหากอยากดื่มควร ดื่มก่อนหรือหลังทานยาประมาณ 2 ชั่วโมง
• ไม่ควรดื่มชาก่อนนอนโดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน สตรีมีครรภ์ คนชรา และเด็กเล็ก
• ไม่ควรดื่มชาร้อนจัด เพราะการดื่มของร้อนจัดมีผลข้างเคียงต่อช่องปาก ลำคอ ลำไส้ได้ อาจทำให้เนื้อบางส่วนในช่องปากตาย และอาจเป็นต้นเหตุกระตุ้นเซลล์มะเร็งได้
• ผู้ที่ไตทำงานบกพร่องหรือมีอาการไตวาย ไม่ควรดื่มน้ำชามาก เพราะจะทำให้ปัสสาวะบ่อยและไตต้องทำงานหนักขึ้น ขณะที่ประสิทธิภาพของไตยังทำงานได้ไม่เต็มที่
• เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ไม่ควรดื่มน้ำชา เพราะกรดแทนนิก เมื่อรวมตัวกับธาตุเหล็กในกระเพาะอาหารและลำไส้จะกลายเป็นสารที่ไม่สามารถละลายได้ ทำให้เด็กเล็กไม่เติบโต มีอาการขาดธาตุเหล็กและเป็นโรคโลหิตจางได้
• ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจ ผู้ป่วยที่หลอดเลือดแดงใหญ่ในหัวใจอุดตันไม่ควรดื่มน้ำชาเข้มข้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ร่างกายถูกกระตุ้นมากเกินไป หากความดันโลหิตขึ้นสูงมาก หรือหัวใจถูกกระตุ้นมากเกินขีดจะเป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างรวดเร็วฉับพลัน
• ผู้ที่มีไข้สูง ไม่ควรดื่มน้ำชา เพราะด่างในน้ำชาจะทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น กระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น จึงยิ่งทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้น กรดแทนนิกในน้ำชายังส่งผลให้ร่างกายขับเหงื่อออกมาได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ระบบการขับเหงื่อของร่างกายทำงานบกพร่อง
สุดท้ายนี้อยากจะบอกว่าทุกอย่างล้วนแต่มีคุณประโยชน์ และโทษเสมอ สิ่งสำคัญคือเลือกให้เหมาะสมกับตัวเอง และเดินทางสายกลาง ดื่มกิน อย่างพอเหมาะ จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด
แหล่งที่มา : women.sanook.com
http://www.pendulumthai.com/smf/index.php?topic=1639.0;wap2
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น